ReadyPlanet.com
dot dot dot
dot
สำหรับสมาชิก
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
dot
dot
bulletหลักโหรโดนใจ
bulletหลักโหร-ศิวเมษ
bulletโหรา-ประวัติศาสตร์
bulletโหรา-ไอที
bulletโหรา-โปรแกรม
bulletDemo/Freeware
bulletโปรแกรม Virgo07
bulletDelphi กับ Swiss Ephemeris
bulletผูกดวงออนไลน์กับ Astrotheme.com
bulletพิกัดภูมิศาสตร์ ประเทศไทย
bulletwebboard ผลัดกันเขียนเวียนกันอ่าน
dot
dot
bulletกำพล ภาระโภชน์ (Astroman) - ยูเรเนียน
bulletโรงเรียนโหราศาสตร์ไทยมาตรฐาน
bulletอดิเทพ ศรีรัตนไพฑูรย์ - ยูเรเนียน
bulletอาคม ชูจันทร์ - ยูเรเนียน, ลายมือ
bulletชาญชัย เดชะเสฏฐดี (ผู้ร่วมเขียนบทความ)
bulletอาจารย์ ธนกร ตันติถาวร - ยูเรเนียน
dot
dot
bulletประวัติ
bulletการติดต่อ
bulletภาพยนตร์ประวัติศาสตร์
bulletRojnChin's Channel (YouTube)
bulletRojnChin's Blog
bulletร้านค้าออนไลน์
dot
dot
bulletโรงเรียน โหราศาสตร์ ฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมัน
bulletAstro.com
bulletพยากรณ์ดอทคอม
bulletมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยฯ
bulletโหราศาสตร์แนวอาจารย์จรัญ พิกุล
bulletโหรายูเรเนียนดอทคอม
bulletบ้านฮวงจุ้ย
bulletวารสารโหราเวสม์
bulletUranianSoft.com
bulletดูดวงกับ GooSiam.com
bulletMyHora.com: ดูดวงยูเรเนียนออนไลน์
bulletAstro-Seek.com: Full Moons & New Moons
bulletAstro-Seek.com: Aspect Search Engine
bulletLatitude&Longitude เมืองต่างๆ ทั่วโลก
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC
bulletรวม Link เว็บอื่นๆ ที่น่าสนใจ
bulletแผนผังเว็บไซต์ (Site Map)






ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์


CURRENT MOON


dot
ประสบการณ์ การโปรโมทเว็บ ทฤษฎี และ ปฏิบัติ
วันที่ 00/00/0000   00:00:00

บทความนี้ เดิมผมได้เขียนไว้เป็นตอนๆ ลงใน Blog (http://rojn.blogth.com/) ในชื่อว่า "ทำเว็บอย่างไรให้คนสนใจ?" รวม 3 ตอน กับอีกตอนหนึ่งซึ่งไม่เชิงว่าเป็นตอนที่ 4 แต่เป็นผลของการนำทฤษฏีหรือหลักการในบทความ 3 ตอนที่กล่าวมาปฏิบัติจริง จึงขอนำมาผนวกรวมกันไว้ในบทความเดียวกัน โดยมีการดัดแปลงเพิ่มเติมข้อความบ้างตามความเหมาะสม

ในการเขียนบทความนี้ ผมคงไม่ขออวดอ้างขนาดว่าเป็นเคล็ดลับในการทำเว็บให้คนเข้ามากมาย หรือได้เงินทองอะไรนักหนา เพราะจากการทำเว็บส่วนตัวที่ www.rojn-info.com หรือการเขียน Blog ที่ http://rojn.blogth.com/ ไม่ว่าจะดูจากจำนวนคนหรือรายได้แล้ว อยู่ในระดับที่ไม่ขายหน้าใครๆ หรือไม่เหนื่อยเปล่าเท่านั้น


เหตุที่หาญกล้าเขียนบทความนี้ก็เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการทำเว็บไซต์ ซึ่งในทางทฤษฎีได้เรียนรู้มาจากการอบรมของ ReadyPlanet ผู้ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูปที่ผมใช้บริการทำเว็บไซต์ www.rojn-info.com และได้นำมาปฏิบัติจนเกิดผลในระดับหนึ่งแล้ว เพื่อให้สุจริตชนคนทำเว็บไซต์ทั้งหลาย ไม่ว่าเพื่อการค้า หรือเพียงเป็นงานอดิเรก ได้เข้าใจแนวคิดและวิธีการในการพัฒนาหรือที่เรียกกันว่า "การโปรโมทเว็บไซต์" ในทางที่ถูกต้อง แทนการใช้วิชามารประเภทส่งสแปมเมล์หรือตั้งกระทู้สแปมในเว็บคนอื่นจนเกิดความเดือดร้อนรำคาญไปทั่วอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน


การศึกษาเรียนรู้ในการโปรโมทเว็บไซต์ให้ประสบความสำเร็จนั้น เขามีศาสตร์ของเขาโดยเฉพาะ ถ้าใครอยากรู้อย่างจริงจังมีทางเลือกหลายทาง เช่น การเข้าอบรมในหลักสูตรการพัฒนาเว็บไซต์ให้ประสบความสำเร็จของ บริษัท ReadyPlanet หรือของบริษัท/สถาบันอื่นๆ ดังที่กล่าว มิฉนั้น ก็ต้องศึกษาจากตำรับตำราหรือเว็บไซต์ที่กล่าวถึงศาสตร์นี้ เช่น www.makemany.com หรือ www.keng.com ส่วนในที่นี้จะขอบอกเล่ากันด้วยภาษาชาวบ้านๆ พอให้ทราบเป็นพื้นฐาน สำหรับการปฏิบัติหรือเรียนรู้ในขั้นสูงๆ ขึ้นไป

เริ่มต้นที่ความคิดดีๆ

สิ่งแรกที่จะต้องคำนึงก่อนเริ่มลงมือทำเว็บไซต์ คือ เว็บไซต์ของท่านจะนำเสนอแนวคิดอะไร ซึ่งจะต้องเป็นแนวคิดที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในการอบรมของบริษัท ReadyPlanet นั้น คุณทรงยศ คันธมาลา  เจ้าของบริษัทซึ่งเป็นวิทยากรด้วย จะพูดแบบติดตลกว่าต้องเป็นแนวคิดที่ "คมจนบาดมือ" หรือพูดให้เป็นภาษาชาวบ้านอีกหน่อย คือ การมี "จุดแข็งจุดขาย" หรือเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่ซ้ำแบบใคร เช่น เว็บของคุณขายสินค้าไอทีต่างจากเว็บของคนอื่นอย่างไร ต่างกันที่ตัวสินค้า หรือบริการหลังการขาย ถ้าจะทำเว็บดูดวงแล้ว เว็บคุณดูดวงต่างจากเว็บดูดวงอื่นๆ อย่างไร ต่างในแง่หลักวิชาที่ใช้ หรือลีลาการพยากรณ์อย่างไร 

 
ถัดมาคือเรื่องความเป็นเอกภาพของแนวคิดที่นำเสนอในเว็บ พูดแบบชาวบ้านคือต้องไม่ "จับฉ่าย" นั่นเอง ประเด็นนี้ ที่ Blog ผมคือ http://rojn.blogth.com/ คงเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีเอาเลย คือ มีทั้งเรื่องดวง เรื่องธุรกิจเครือข่าย เรื่องหนังประวัติศาสตร์ ฯลฯ ปนเปกันอยู่ ด้วยความที่สนใจอะไรหลายๆ ด้าน แล้วไม่อยากเสียเวลากับการเปิดเว็บหรือบล็อกหลายๆ แห่ง และที่สำคัญคือถือว่าไม่ใช่เว็บหลักของเราซึ่งจัดระเบียบไปเรียบร้อยแล้ว คือ ที่ www.rojn-info.com แห่งนี้ ตอนแรกก็ออกแนวจับฉ่ายทำนองนี้ แต่ยังน้อยกว่า แล้วพอได้เข้าอบรมการพัฒนาเว็บไซต์ จึงตัดสินใจ ยุบให้เหลือแต่แนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโหราศาสตร์กับไอทีเป็นหลัก อะไรอย่างอื่น ถ้าหาทางเขียนโยงให้เข้าแนวคิดหลักไม่ได้จริงๆ ก็ต้องตัดทิ้ง หรือเอาไปไว้ในส่วนเบ็ดเตล็ดที่จะไม่มาทำให้ผู้ชมเว็บสับสน


อีกประเด็นหนึ่งที่ในหลักสูตรไม่ได้กล่าวถึง และไม่แน่ใจว่าจะมีผู้รู้ด้านโปรโมทเว็บกล่าวถึงหรือไม่ แต่จากประสบการณ์ของผมเองแล้ว คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ คือการมีความตั้งใจดีต่อผู้ชมเว็บ ความตั้งใจที่จะแบ่งปันความรู้หรือแนวคิดดีๆ ให้กับผู้ชมเว็บ แม้ว่าเว็บของคุณจะเป็น "เว็บขายของ" คุณจะต้องคิดให้ไกลหรือลึกซึ้งกว่าการขายสินค้ารายชิ้นหรือบริการเป็นคราวๆ เพื่อเอากำไร ตรงนี้จะต้องเป็นผลจากความเชื่อมั่นในสินค้าหรือบริการที่คุณกำลังนำเสนอ เช่น ถ้าจะขายชาเขียว ไม่ใช่สักแต่ว่าเห็นคนเขาเห่อชาเขียวกันแล้วอยากจะขายเอากำไรบ้าง แต่ต้องมาจากความรู้ความเข้าใจในคุณประโยชน์ของชาเขียวจริงๆ แล้วนำเสนอข้อมูลผลิตภัณฑ์เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์นั้น กรณีที่ไม่เกี่ยวกับการค้าการขาย เช่น ถ้าจะทำเว็บด้านประวัติศาสตร์ ก็ไม่ใช่แต่เพียงเขียนเอามันหรือคุยโอ่ว่าข้ารู้อะไรที่คนอื่นไม่รู้ แต่ต้องคิดว่าประวัติศาสตร์นั้นๆ มันเป็นเรื่องดีมีประโยชน์ที่เขารู้ไว้ได้ประโยชน์จริงๆ

 
ความปรารถนาดีต่อผู้อื่นนี้จะเป็นพลังสำคัญอันหนึ่งให้เราอัพเดทเว็บได้ทุกวัน ในสมัยที่ท่านเป็นนักเรียนนักศึกษาวิชาภาษาไทย คงเคยได้รับคำสอนว่าคุณสมบัติของกวีหรือนักเขียนนักประพันธ์นั้น คือการได้พบเห็นอะไรในชีวิต แล้วเกิดความประทับใจอยากจะถ่ายทอดให้ผู้อื่นทราบ สำหรับยุคไอทีหรือไอซีทีนี้ แม้ท่านจะไม่ใช่กวีเอกหรือนักประพันธ์ใหญ่ แต่คุณสมบัติเช่นว่าแม้เพียงเล็กน้อย หากมีความต่อเนื่องก็จะทำให้เว็บไซต์หรือบล็อกของท่านมีอะไรใหม่ๆ ดึงดูดผู้คนได้เสมอ

เปิดตัวสู่โลกกว้าง

ทีนี้เมื่อเราทำเว็บแล้ว คนจะมาสนใจได้ เขาต้องรู้จักเราก่อน


หลายคนอาจนึกถึงการประชาสัมพันธ์โดยใช้สื่อต่างๆ เช่น หนังสือ วารสาร วิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งมักจะแพงมาก และไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่ แต่สื่อส่วนตัวอย่างเช่น ทำสติ๊กเกอร์ชื่อเว็บเราติดรถยนต์ หรือการใส่ชื่อเว็บไซต์เราลงในนามบัตร จะช่วยได้มากกว่า


ในอินเตอร์เน็ตนั้น เราย่อมรู้จักเว็บไซต์ใหม่จากเว็บไซต์ที่เรารู้จักดีแล้ว แต่การที่เว็บไซต์ใหม่ๆ จะไปโฆษณาในเว็บใหญ่ๆ ยักษ์ๆ ก็จะกลายเป็นค่าใช้จ่ายแบบเดียวกับการโฆษณาทางสื่อทั่วไป


เว็บไซต์ประเภทหนึ่งที่จะยอมให้เราลงโฆษณาฟรีๆ ได้(บ้าง) คือ เว็บไซต์ประเภทที่เป็น Web Directory หรือมีบริการรับลงโฆษณาเว็บให้เราแบบเดียวกับสมุดโทรศัพท์ ณ เวลานี้ เว็บไซต์ของไทยที่ฮอตที่สุดและมีบริการ Web Directory ให้เราไปโปรโมทเว็บไซต์ได้ คือ www.sanook.com ที่หน้า http://webindex.sanook.com ครับ ในระดับโลกเอง Google ก็มี Web Directory  เช่นกัน นอกจากนั้นก็มีเว็บอื่นๆ อีก เช่น www.tem100.com, www.sansarn.com, www.thailand108.com, www.hawebthai.com และ www.dmoz.org เป็นต้น ข้อควรสังเกตคือจะมีเว็บหลายแห่งที่นำข้อมูลของ webindex.sanook.com ไปใช้จนเหมือนกับว่าลงโฆษณาที่ Sanook แห่งเดียวจะเพียงพอ แต่อย่าชะล่าใจ! ควรหมั่นแสวงหา Web Directory แห่งใหม่ๆ อยู่เสมอ หากตรวจสอบแล้วยังไม่มีข้อมูลของเว็บเราก็แจ้งเพิ่มไว้ซะเลย


เรื่องการลงโฆษณาเว็บใน Web Directory นี้เขามี กฎ กติกา มารยาท ที่ควรทราบไว้บ้าง คือ เขาจะมีการแบ่งเว็บออกเป็นหมวดต่างๆ หลายหมวด ต้องแจ้งข้อมูลเว็บของเราให้ถูกหมวด ไม่งั้นละก็ ถ้าเขายังใจดีหน่อยก็จะจับย้ายหมวดให้ซะเอง ถ้าเฮี้ยบหน่อยเขาอาจไม่พิจารณาลงให้เราเลย นอกนั้นก็จะมีกติกาประเภทว่าต้องเป็นเว็บที่มีโดเมนเนมของตัวเอง เนื้อหาเว็บไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม อะไรพรรค์นั้น


วิธีการถัดมาคือการแลกลิ้งค์กับเว็บไซต์ต่างๆ ที่เขาเปิดมาก่อน(หรือหลังก็ได้) กฎ กติกา มารยาท ต่างๆ ได้แก่ ควรเลือกเว็บที่มีเนื้อหาสอดคล้องกัน สำหรับเว็บธุรกิจ ต้องไม่ใช่เว็บที่เป็นคู่แข่งทางการค้ากัน อย่างเช่น ถ้าทำเว็บโหราศาสตร์แบบวิชาการเพียวๆ (ไม่รู้มีจริงสักกี่เว็บ เอาเป็นว่าสมมตินะครับ) การจะแลกลิงก์กับเว็บโหราศาสตร์ดูดวงทั่วไปจะง่าย แต่ถ้าทำเว็บเพื่อโปรโมทธุรกิจการดูดวงแล้ว เห็นเป็นเว็บโหราศาสตร์ด้วยกันอาจไม่พอ ต้องดูดีๆ ว่าเขามีการโปรโมทการรับดูดวงแบบเดียวกับเราหรือเปล่า


เมื่อตกลงจะลองเจรจาขอแลกลิงค์กันแล้ว ควรทำลิงก์ให้เขาก่อนเลย แล้วถึงจะติดต่อเว็บมาสเตอร์เขา และถ้าเขาไม่ตอบกลับหรือไม่แลกด้วย ก็ขอให้ใจกว้าง อาจลองติดต่อใหม่อีกสักครั้ง แล้วถ้าไม่ได้ค่อยเอาลิงก์เขาออกโดยไม่จำเป็นต้องไปต่อว่าต่อขานกันนะครับ 

 
การใช้วิชามารประเภทไปโฆษณาในเว็บบอร์ดของเว็บอื่นทั่วไปหมดนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ขอแนะนำ อย่างไรก็ตาม มี กฎ กติกา มารยาท ที่อนุโลมให้พอจะโฆษณาในเว็บบอร์ดชาวบ้านเขาได้บ้าง แต่ต้องเนียนจริงๆ นะครับ อย่าให้น่าเกลียด เช่น ในเว็บที่มีแนวทางเดียวกันน่าจะมีคุณสมบัติแลกลิงก์ก้นได้นั้น อาจเจรจาพูดคุยกันผ่านเว็บบอร์ดแทนอีเมล์ก็ได้ หากเป็นเว็บที่คนละเรื่องกับเว็บเรา บางเว็บอาจมีเว็บบอร์ดหลายกระดานโดยจัดให้มีกระดานสำหรับลงโฆษณาได้ ที่เรียกว่า Classified ซึ่งถ้าเขามีการแบ่งหมวดหมู่โฆษณาไว้ เราก็ต้องลงให้ถูกหมวดเหมือนการลง Web Directory อย่าลงผิดหมวดหรือลงมั่วไปหมดทุกหมวด นอกจากนี้หากในเว็บบอร์ดของเขามีกระทู้ที่พอจะโยงมาถึงเนื้อหาบางอย่างในเว็บเรา ก็อาจไปร่วมแสดงความเห็น พร้อมทั้งแนะนำเว็บเราไปในตัวได้ด้วย แต่ทั้งนี้ต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเองและผู้อื่นจริงๆ นะครับ ว่าเป็นเรื่องที่โยงถึงเว็บเราได้จริงๆ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการฉวยโอกาสโฆษณา แล้วชาวบ้านเขาจะไม่คบครับ

ทำเว็บให้ Search Engine สนใจ? 

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่ถือกันว่าสำคัญที่สุดในการโปรโมทเว็บ/บล็อ นั่นคือการทำเว็บให้ผู้คนสามารถหาเว็บของเราพบจากเว็บไซต์ประเภทที่ใช้ในการค้นหาเว็บไซต์อื่นๆ หรือที่เรียกว่า Search Engine นั่นเอง ซึ่งรายที่ดังที่สุด ณ เวลานี้ คงไม่พ้น Google


Search Engine จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างนักท่องอินเตอร์เน็ตทั้งหลายกับเจ้าของเว็บไซต์ต่างๆ ลักษณะการทำงานของเขาไม่ใช่รอให้เจ้าของเว็บไปลงทะเบียนแจ้งชื่อเว็บเหมือนอย่าง Web Directory แต่เป็นการทำงานด้วยการส่งโปรแกรม Bot ไปรวบรวมข้อมูลจากเว็บต่างๆ ว่าที่ไหนมีข้อมูลอะไรบ้าง มีการอัพเดทบ่อยแค่ไหน เก็บรวบรวมไว้ในฐานข้อมูล เมื่อผู้ใช้บริการ Search Engine ค้นหาเว็บจากคำที่ต้องการ Search Engine ก็จะหาจากฐานข้อมูลว่าเว็บใดมีเรื่องราวตรงตามคำค้นบ้าง และแต่ละเว็บมีคุณภาพแค่ไหน แล้วรายงานผลให้ผู้ใช้ทราบ เรียงตามลำดับปริมาณและคุณภาพของเนื้อหาเว็บที่สัมพันธ์กับคำค้นนั้นๆ


Search Engine นี่แหละคือที่พึ่งอันประเสริฐของเจ้าของเว็บ เพราะบรรดานักท่องเว็บตัวจริงทั้งหลายทั้งปวง อย่างเก่งก็จะจำได้แต่เว็บไปเยือนเป็นประจำไม่กี่แห่ง แล้วพอมีเหตุว่าอยากหาอยากรู้อะไร ก็ต้องวิ่งมาที่ Search Engine แบบเดียวกับที่แต่ก่อนยังมีแต่โทรศัพท์บ้าน เราก็พึ่งสมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองในการหาคนหรือหาร้านค้าต่างๆ นั่นเอง


หน้าที่ของเจ้าของเว็บทั้งหลายประการแรกคือการหมั่นอัพเดทเนื้อหาภายในเว็บของตนตามวัตถุประสงค์ของเว็บโดยสม่ำเสมอ ถัดมาคือต้องทราบว่าเนื้อหาในเว็บของตนนั้น มีคำสำคัญอะไรบ้างที่ชาวบ้านเขาจะใช้ในการสืบหาด้วย Search Engine

และเนื้อหาในเว็บยังจะต้องมีการจัดระเบียบให้ Search Engine หาพบและจัดเว็บเราไว้ในลำดับแรกๆ ของรายงานตามคำค้น ถ้าติดหน้าแรกหรือถึงขนาดรายการแรกยิ่งดี เรื่องนี้เป็นกระบวนการที่มีรายละเอียดมากมายจนเป็นศาสตร์ที่เรียกกันว่า SEO หรือ Search Engine Optimization ซึ่งคุณสามารถศึกษาได้จากตำรับตำราและเว็บไซต์บางแห่ง ในที่นี้ขอแนะนำเว็บ www.makemany.com ซึ่งจะหนักไปทางเว็บประเภท Blog แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ได้กับเว็บทั่วไปด้วย แต่ในที่นี้จะขอเล่าย่อๆ ตามที่เคยได้รับการอบรมมาจาก ReadyPlanet มา

เคล็ดย่อๆ มันมีอยู่ว่า เจ้า Search Engine นั้นมันสร้างขึ้นมาโดยฝรั่งตาน้ำข้าวที่ภาษาเขียนไม่ได้ติดกันเป็นพืดแบบภาษาไทย แต่มีช่องว่างระหว่างคำ เช่นเวลาจะเขียนสารภาพรักกับแฟนหรือกิ๊ก ก็บอกว่า "I love you." ไม่ใช่ "Iloveyou." เมื่อตะแกคิดโปรแกรมเว็บ Search Engine ก็อาศัยพื้นฐานการเว้นช่องว่างในภาษาเขียนแบบนี้เป็นหลักในการค้นหาคำที่ต้องการ โดยไม่ได้ใส่ใจว่าภาษาอื่นจะแตกต่างไปจากตนเองอย่างไร

หากผมทำเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษโดยเขียนว่า "I learned uranian astrology from major general Prayool Pol-Areey" ไม่เป็นการยากที่ Search Engine จะมาพบคำว่า "uranian" และ "astrology" และนำไปเก็บเป็นข้อมูลไว้รายงานผู้ใช้บริการสืบค้น

แต่พอเป็นภาษาไทย หากผมเขียนตามปกติว่า "ผมเรียนโหราศาสตร์ยูเรเนียนจากอาจารย์พลตรีประยูร พลอารีย์" เจ้า Search Engine ที่ฝรั่งทำจะไม่สามารถแยกคำในภาษาไทยปกติเช่นนี้ได้ จึงต้องใส่ช่องว่างให้เขาเป็น "ผมเรียน โหราศาสตร์ ยูเรเนียน จาก อาจารย์ พลตรี ประยูร พลอารีย์" (อาจเขียน "โหราศาสตร์" กับ "ยูเรเนียน" ให้ติดกันก็ได้ แล้วแต่การตัดสินใจว่าจะให้คำไหนเป็น Keyword)

ทาง ReadyPlanet เขาแนะนำถึงขนาดให้เขียนแบบนี้ตลอดทั้งเว็บไซต์เลย ซึ่งหลายคนอาจจะไม่เคยชินหรือกลัวกระทั่งภาษาจะวิบัติ โดยส่วนตัวผมได้นำมาประยุกต์ใช้เฉพาะที่สำคัญจริงๆ คือ ในส่วนชื่อของบทความ ในเนื้อหาของบทความก็จะใส่ช่องว่างคั่นเฉพาะคำที่สำคัญจริงๆ และบ่อยครั้งที่ผมจะใส่คำที่ต้องการเน้นไว้ในเครื่องหมายคำพูดด้วย เพื่อไม่ให้การแบ่งคำผิดธรรมชาติภาษาไทยมากนัก เพียงเท่านี้ก็ได้ผลมากแล้ว

(update 28 พฤษภาคม 2550: ข่าวล่าสุดแจ้งว่า ทาง Google ได้ปรับปรุงระบบการสืบค้นให้เข้ากับภาษาไทยมากขึ้น จนการเว้นวรรคดังที่กล่าวอาจจะไม่มีความจำเป็นแล้ว เช่น หากค้นด้วยคำว่า "สุราษ" ก็สามารถเจอเว็บที่มีคำว่า "สุราษฎร์ธานี" ได้ ที่มา http://oxygen.readyplanet.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=409631&Ntype=6)

อีกตำแหน่งหนึ่งที่เว็บมาสเตอร์มือใหม่มักจะมองข้าม คือ Title ที่ปรากฏตรงส่วน Title Bar ของแต่ละหน้า ที่หลายรายไปใส่เป็นโดเมนเนม หรือที่หนักไปกว่านั้น ปล่อยให้เป็นคำว่า Untitled ตาม Default ของโปรแกรมที่ตัวใช้ แต่ตามหลัก SEO นั้น เจ้า Search Engine จะให้ความสำคัญกับ Title หรือส่วนหัวของเว็บค่อนข้างมาก

ขออนุญาตยกตัวอย่างเว็บตัวเองอีกที หากผมใส่หัวเป็น www.rojn-info.com ตามชื่อโดเมน ทั้งคนทั้ง Search Engine ที่ไหนจะรู้ว่าเป็นเว็บอะไร ผมจึงได้ใส่เป็น "โรจน์ จินตมาศ : โหราศาสตร์ ยุค IT (โหราศาสตร์ยูเรเนียน/สากล - Uranian Astrology)" เหตุที่ใส่ชื่อตัวเองเป็นคำค้นด้วยก็เพราะเชื่อว่าตัวเองมีชื่อเสียงในวงการยูเรเนียนอยู่พอสมควร เมื่อมีใครรู้ว่าผมทำเว็บจากการบอกกันปากต่อปากเพียงว่านายโรจน์แกทำเว็บโดยไม่รู้โดเมนเนมชัวร์ๆ ก็ต้องเอาชื่อผมค้นใน Search Engine แน่ๆ และทุกวันนี้ก็ยังมีคนใช้ชื่อผมหาเว็บจริงๆ อีกตัวอย่างจากเว็บ ReadyPlanet ซึ่งเป็น "อาจารย์" ผมเอง ใส่ Title ไว้ว่า "ReadyPlanet.com : เว็บไซต์สำเร็จรูป แห่งแรก และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย" ลองค้นคำว่า "เว็บไซต์สำเร็จรูป" ไม่มีหลุดแน่

หวังว่าบทความชุดนี้คงจะได้มีส่วนช่วยให้ท่านเจ้าของเว็บหรือเจ้าของบล็อกทั้งหลายมองเห็นแนวทางการโปรโมทเว็บในเบื้องต้น ที่ได้ผลเป็นเรื่องเป็นราวและไม่เบียดเบียนผู้อื่น เลิกเสียทีเถิด การส่งสแปมเมล์และการตั้งกระทู้สแปมในเว็บบอร์ดชาวบ้านแบบไม่ดูตาม้าตาเรือและไม่ให้เกียรติกัน หากใครเคยทำก็จงทิ้งมันไว้กับปีเก่า แล้วเริ่มต้นปีใหม่อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและหลักจรรยาบรรณกันเถอะครับ

ภาคปฏิบัติ สุดท้ายต้องกลับมาที่การขยันเพิ่มเนื้อหา

ตัวอย่างประกอบแนวคิดทฤษฎีที่กล่าวไว้ในตอนต้น คงหนีไม่พ้นเรื่องของตัวเอง (อีกแล้ว) เรียกให้โก้หน่อยว่า "ประสบการณ์ตรง" ก็แล้วกัน กล่าวคือ ในช่วงต่อระหว่างปีเก่า 2549 กับปีใหม่ 2550 ผมได้คัดลอกบทความในคอลัมน์ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ใน rojn.blogth.com ไปไว้ยังเว็บไซต์ที่จัดตั้งใหม่ www.iseehistory.com ด้วยความเหลิงว่า ตั้งแต่ปรับปรุงเว็บ โหราศาสตร์ ยุคไอที (www.rojn-info.com) แล้ว มีสถิติการเข้าชมเพิ่มขึ้นมากมาย เลยคิดเอาง่ายๆ ว่าจะสามารถปั้นเว็บ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ให้มีสถิติใกล้เคียงกันได้ง่ายๆ

ปรากฏว่าคิดผิดครับ

เริ่มจากการไปเพิ่มชื่อเว็บในสารบัญของ Sanook.com ระบบมันบอกว่ามีชื่อเว็บ www.iseehistory.com มีอยู่ในฐานข้อมูลแล้ว แต่หาว่ามันไปซุกอยู่ในหมวดหมู่ไหน ก็หาไม่เจอ อีเมล์ไปถามเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้รับคำตอบ

พยายามไปเพิ่มชื่อเว็บในสารบัญของ Web Directory อื่นๆ ก็แทบไม่ได้ผลอะไรกลับมา

นึกเอาเองว่าคนที่เคยอ่าน ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ที่ blog แห่งนี้ จะตามไปที่ www.iseehistory.com ง่ายๆ ปรากฏว่ามันไม่ง่ายเช่นนั้น

พยายามหาเว็บที่จะแลกลิงค์ด้วย รวมถึงไปแจ้งข่าวในเว็บบอร์ดที่เกี่ยวข้อง ปรากฏผลแบบ "ไฟไหม้ฟาง" ในวันที่ 6-8 แล้วก็ค่อยๆ ซาไป ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องขอขอบคุณผู้ชมทั้งหลายจาก www.taharn.com กองบิน 21 (www.wing21.rtaf.mi.th) และ www.pantown.com โดยเฉพาะรายหลังนี่ ได้ผู้ใช้นามแฝงว่า ZeroMan ที่ไปโพสต์กระทู้แนะนำไว้ให้ และคุณ OldTimer ที่ให้แนวคิดในการปรับปรุงเว็บ

เว็บ โหราศาสตร์ยุคไอที (www.rojn-info.com) ที่ภูมิใจนักหนาว่าเพิ่มสถิติได้อย่างงดงาม อุตส่าทำทั้ง Banner ทั้งตั้งกระทู้เชิญชวน ปรากฏว่ามีผู้สนใจอยู่ไม่มาก

เหลือที่พึ่งอันประเสริฐประการสุดท้าย คือ การปรับปรุงเว็บให้เข้าตา Search Engine อย่าง Google ตามหลัก SEO (Search Engine Optimization) ที่ยังรู้กระท่อนกระแท่น

เมื่อเห็นว่าคำค้นสำคัญๆ ยังมาโผล่อยู่ที่ Blog แห่งนี้ ก็ได้ตัดสินใจ ลบบทความฉบับเต็มของหนังทุกเรื่องออกไป เหลือทิ้งแต่ข้อความขออภัย พร้อมลิงค์ไปยังเว็บไซต์ใหม่

บทความที่ย้ายมาที่ www.iseehistory.com ก็ตรวจทานทั้งความถูกต้อง และการตัดแบ่งคำให้ Bot ของ Google ตรวจหาคำดัชนีสำคัญๆ ได้ รวมทั้งใส่ชื่อเรื่องที่ตัดแบ่งคำแล้ว ไว้ใน Title Bar ของทุกบทความ

นับไปนับมา บทความที่มีอยู่เพียงยี่สิบกว่าบทความยังน้อยมาก เลยต้องหาทางเร่งเครื่องเขียนบทความเป็นการใหญ่ ซึ่งไม่ง่ายเลย เพราะก่อนเขียนต้องเอาหนังมาดูก่อนเรื่องละ 2-3 ชั่วโมง


สถิติโดยรวมตอนแรกเหมือนจะไม่ค่อยกระเตื้องเท่าไหร่ แต่ดูรายละเอียดแล้ว มีการ Search จาก Google เข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


พอเวลาผ่านไปอีกสักหน่อย จึงเริ่มเห็นมีผู้ชมจาก webindex.sanook.com โผล่เข้ามาบ้าง ตามกลับไปดูก็พบข้อมูลเว็บไซต์ในไดเรคตอรีของเขาแล้ว เข้าใจว่าเขาคงดูใจเราก่อนว่าเราจะขยันอัพเดทข้อมูลเว็บแค่ไหน

ลองหา Web Directory อื่นๆ มาเพิ่มข้อมูลไปเรื่อย จำนวนผู้ชมก็กระเตื้องขึ้นเป็นลำดับ
 

สรุปว่า การโปรโมทเว็บหรือบล็อก วิธีที่ดีที่สุด (แต่ไม่ใช่วิธีเดียว) คือการเพิ่มเนื้อหาทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ


ด้านปริมาณคงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม


ด้านคุณภาพ นอกจากความมีเนื้อหาสาระตรงตามเรื่องของเว็บไซต์และความต้องการของผู้ชมเว็บแล้ว ยังหมายถึง การปรับแต่งเนื้อหาให้ Search Engine ตรวจหาคำค้นสำคัญๆ ได้ดังที่กล่าวนั่นเอง


ผลการโปรโมทเว็บ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ สามารถติดตามศึกษาสถิติได้ที่ http://extremetracking.com/open;unique?login=iseehist ครับ


หวังว่าบทความนี้คงจะได้มีส่วนช่วยให้ท่านเจ้าของเว็บหรือเจ้าของบล็อกทั้งหลายมองเห็นแนวทางการโปรโมทเว็บในเบื้องต้น ที่ได้ผลเป็นเรื่องเป็นราวและไม่เบียดเบียนผู้อื่น เลิกเสียทีเถิด การส่งสแปมเมล์และการตั้งกระทู้สแปมในเว็บบอร์ดชาวบ้านแบบไม่ดูตาม้าตาเรือและไม่ให้เกียรติกัน หากใครเคยทำก็จงเลิกเสีย แล้วเริ่มต้นใหม่อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและหลักจรรยาบรรณกันเถอะครับ


หนังสือเกี่ยวกับ Search Engine Optimization จาก ร้านค้าออนไลน์




โหราศาสตร์-ไอที

Amazon Kindle กับ คลังความรู้ทางโหราศาสตร์ของผม วันที่ 30/09/2011   21:13:02
"เว็บบอร์ด" ตามที่ผมเข้าใจ และกฎกติกามารยาทที่ควรจะเป็น วันที่ 23/08/2010   09:52:56
ทำแผนที่ไปบ้านตัวเองง่ายๆ ผ่าน Google Maps วันที่ 04/08/2010   20:49:39
Download: "ย้อนเวลาหาอดีต"กับภาษาคอมพิวเตอร์ BASIC วันที่ 22/06/2010   10:00:34
ตัวอย่างการใช้โปรแกรม Open Source/Freeware แทนโปรแกรมลิขสิทธิ์ วันที่ 27/10/2009   22:00:38
การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อโหราศาสตร์ กับชีวิตประจำวัน วันที่ 02/06/2012   11:57:59
แนะนำ WOT ผู้ช่วยเตือนเว็บอันตราย วันที่ 05/08/2012   10:48:22
แนะนำ filehippo.com วันที่ 06/07/2008   20:40:47
สอนโหราศาสตร์ด้วย YouTube! วันที่ 00/00/0000   00:00:00
Software as a Service กรณีโปรแกรมโหราศาสตร์ยูเรเนียน วันที่ 03/07/2008   22:26:26
บทบาทของตัววัดสถิติเว็บไซต์ (Counter) วันที่ 00/00/0000   00:00:00 article
รวมวิธีการดู โทรทัศน์ ทางหน้าจอ คอมพิวเตอร์ วันที่ 05/08/2012   12:40:50
ทางเลือกของ การเปิดเว็บไซต์ ในปัจจุบัน วันที่ 00/00/0000   00:00:00 article
เมื่อต้องเลือกใช้ เครื่องพิมพ์ แบบ Multi-Function วันที่ 06/01/2010   23:08:16
ทดลองเล่น Wireless LAN (Wi-Fi) ในบ้าน วันที่ 00/00/0000   00:00:00 article
ประสบการณ์เริ่มเล่น Internet แบบ Hi Speed วันที่ 06/01/2010   23:12:03 article
ประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับ กล้องถ่ายภาพดิจิตอล วันที่ 00/00/0000   00:00:00
จะสอน โหราศาสตร์ ด้วย คอมพิวเตอร์ อย่างไรดี? วันที่ 00/00/0000   00:00:00
ต่อ คอมพิวเตอร์ ออก โทรทัศน์ วันที่ 05/08/2012   11:27:01
เลือกคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค (NoteBook) สำหรับงาน โหราศาสตร์ วันที่ 06/01/2010   23:05:19
คอมพิวเตอร์ กับ นักโหราศาสตร์ การแย่งงานหรือการแบ่งงาน วันที่ 00/00/0000   00:00:00 article
พีดีเอ (PDA: Palm&Pocket PC) กับการจัดระเบียบชีวิต วันที่ 06/01/2010   23:06:07
การกำหนดและรักษา รหัสผ่าน (Password) วันที่ 00/00/0000   00:00:00 article
อาจารย์ Help วันที่ 00/00/0000   00:00:00 article
ศัพท์บัญญัติ เทคโนโลยีสารสนเทศ ของ ราชบัณฑิตยสถาน วันที่ 00/00/0000   00:00:00 article
เรียน โหราศาสตร์ อย่างประหยัด ในยุค ไอที วันที่ 02/06/2012   11:59:14 article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| โหรา-ประวัติศาสตร์ | โหรา-ไอที | หลักโหรโดนใจ | บทความสมทบ | โหรา-โปรแกรม | ผู้จัดทำ/ผู้สนับสนุน | Site Map |

Custom Search


ติดต่อนายโรจน์ E-mail: webmaster@rojn-info.com
หรือ Mobile: 08-1697-3098
(อาจไม่สะดวกรับสายในบางเวลา)
ยังไม่เปิดสอนและไม่รับพยากรณ์เป็นส่วนตัว
กรุณาอย่าใช้โทรศัพท์หรือส่งอีเมล์มาขอดูดวง เพราะไม่มีเวลาตอบ



มูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์ โหราศาสตร์แนว อ.จรัญ พิกุล - AstroClassical.com HoraUranian.com ดูดวง
โหราศาสตร์กับเครื่องประดับ บ้านฮวงจุ้ย (fengshuihut.com) ตลาดวิชาฮวงจุ้ยและดวงจีน ผูกดวง/ยูเรเนียนออนไลน์ (MyHora.com)

รวมลิงค์ : เว็บอื่นๆ ที่น่าสนใจ
eXTReMe Tracker